เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2560 ที่ผ่านมา ได้จัดอบรมการปลูกอ้อยสมัยใหม่ เพื่อรองรับยุคเกษตร 4.0 ซึ่งเป็นการเปลี่ยนการเกษตรแบบดั้งเดิม ไปสู่การเกษตรสมัยใหม่ ณ หอประชุมสมาคมชาวไร่อ้อยเพชรบูรณ์

 

สมาคมชาวไร่อ้อยเพชรบูรณ์ ได้จัดอบรมการปลูกอ้อยสมัยใหม่ เพื่อรองรับยุคเกษตร 4.0

วันที่ 29 พฤษภาคม 2560 ที่หอประชุมสมาคมชาวไร่อ้อยเพชรบูรณ์ ตั้งอยู่หมู่ 13 ตำบลสระกรวด อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ นายถนอม โพธิกุล นายกสมาคมชาวไร่อ้อยเพชรบูรณ์ ได้จัดอบรมการปลูกอ้อยสมัยใหม่ เพื่อรองรับยุคเกษตร 4.0 ซึ่งเป็นการเปลี่ยนการเกษตรแบบดั้งเดิม ไปสู่การเกษตรสมัยใหม่ ที่เน้นการบริหารจัดการและใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย และร่วมถ่ายทอดความรู้ด้านการจัดทำแปลงพันธุ์อ้อยพันธุ์หลัก

โดยมี นายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง(จันทร-รวง-ทอง) เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เป็นประธานในพิธี บรรยายให้ความรู้ด้านการจัดทำแปลงพันธุ์อ้อยพันธุ์หลัก เพื่อลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต พร้อมทั้งร่วมแจกต้นกล้าพันธุ์อ้อยพันธุ์ดี (พันธุ์ KpK 98-51) โดยสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตามโครงการพัฒนาเพื่อปรับโครงสร้างการปรับปรุงพันธุ์อ้อยและพัฒนาระบบการบริหารจัดการผลิตอ้อยอย่างครบวงจร มอบให้แก่สมาชิกชาวไร่อ้อยเพชรบูรณ์ที่เข้าอบรม ในเบื้องต้น รอบแรก จำนวน 300,000 ต้น แบ่งเฉลี่ยคนละ 700 ต้น เพื่อนำไปปลูกขยาย และเสริมสร้างพัฒนาความรู้ จนสามารถนำพันธุ์อ้อยพันธุ์ดีที่ได้รับไปจัดทำแปลงพันธุ์อ้อยพันธุ์หลักที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ โดยหากชาวไร่ร่วมกันปลูกจนครบทั้งหมด 300,000 ต้น ตามระยะเวลาเพาะปลูก ก็จะสามารถขยายพันธุ์อ้อยดังกล่าว รวมกัน ได้มากถึง 210 ตันเลยทีเดียว

นายถนอม โพธิกุล นายกสมาคมชาวไร่อ้อยเพชรบูรณ์ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาเกษตรกรชาวไร่อ้อย เมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตส่งโรงงานแล้วเสร็จ ก็จะทำการเพาะปลูกอ้อยเหมือนที่เคยทำกันมา คือใช้แรงงานคนหรือรถปลูก ด้วยวิธีตัดเป็นท่อน ซึ่งในพื้นที่ 1 ไร่ ต้องใช้พันธุ์อ้อยมากถึง 2 ตัน แต่กลับกันหากชาวไร่หันมาใช้วิธีปลูกอ้อยสมัยใหม่ คือนำต้นพันธุ์อ้อย มาใช้วิธีเพาะข้อตา หนึ่งตาหนึ่งหลุม ซึ่งจะใช้พันธุ์อ้อย ใน 1 ไร่แค่เพียง 400 กิโลกรัมเท่านั้น ทำให้ชาวไร่ประหยัดต้นทุนได้มากกว่า 4 เท่าตัว อีกทั้งต้นกล้าพันธุ์อ้อยที่นำไปปลูกด้วยวิธีนี้ ก็จะมีอัตราการรอดสูง ช่วยลดความเสี่ยง อายุเก็บเกี่ยวเต็มที่ และที่สำคัญ อ้อยพันธุ์ KpK 98-51 ได้ผ่านโครงการพัฒนา ปรับปรุงสายพันธุ์ มีความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่เพาะปลูก ผลผลิตต่อไร่สูง เฉลี่ย 17 ตัน/ไร่ เทียบกับพันธุ์ดั้งเดิมได้ผลผลิต 8-11 ตัน/ไร่ ซึ่งโอกาสนี้ จะช่วยยกระดับชาวไร่อ้อยในจังหวัดเพชรบูรณ์ ให้สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีที่ทันสมัย ในการปรับปรุงพันธุ์ และสามารถปลูกอ้อยให้ได้ผลผลิตต่อไร่ที่คุ้มค่า ชาวไร่อ้อยมีความยั่งยืนในอาชีพ และมีรายได้ที่มั่นคงต่อไป

นายถนอม โพธิกุล นายกสมาคมชาวไร่อ้อยเพชรบูรณ์ กล่าวต่อว่า อ้อย นับว่าเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัดเพชรบูรณ์ มีพื้นที่เพาะปลูกรวมกว่า 500,000 ไร่ และมีแนวโน้มขยายพื้นที่เพาะปลูกเรื่อยๆ โดยในปัจจุบัน ปัญหาที่สำคัญที่สุดของไร่อ้อยในประเทศไทย คือผลผลิตต่อไร่ค่อนข้างต่ำ อยู่ที่ประมาณ 10-12 ตัน/ไร่ ซึ่งต่ำมากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่ง ส่งผลให้ต้นทุนอ้อยต่อตันค่อนข้างสูง อันทำให้ความสามารถในการแข่งขันลดลง ซึ่งทั้งนี้ส่วนหนึ่งของปัญหาการผลิตอ้อยของประเทศไทยคือ พันธุ์อ้อย ซึ่งจะเห็นได้ว่า สายพันธุ์อ้อยที่ดีและเหมาะสมมีให้เลือกไม่มาก เนื่องจากการปรับปรุงพันธุ์อ้อยแต่ละพันธุ์ใช้เวลาค่อนข้างนาน ชาวไร่อ้อยส่วนใหญ่มักใช้พันธุ์อ้อยมาจากแหล่งพันธุ์อ้อยไม่บริสุทธิ์ อีกทั้งพันธุ์อ้อยที่ชาวไร่อ้อยใช้มาอย่างต่อเนื่อง เป็นพันธุ์อ้อยเดิมๆ ที่อาจมีการเสื่อมพันธุ์ ผลผลิตและคุณภาพอ้อยลดลง ซึ่งในปีนี้ได้พัฒนาโครงการฯให้มีเนื้องานที่สอดคล้องกับเทคโนโลยี กระทั่งได้พันธุ์อ้อยที่เหมาะสม และนับเป็นครั้งแรกที่นำวิธีการปลูกสมัยใหม่ แบบเพาะข้อตา มาปรับใช้ในพื้นที่

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของไทย เป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ โดยในปีการผลิต 2559/60 ประเทศไทยมีผลผลิตอ้อยเข้าหีบกว่า 93 ล้านตัน สามารถสร้างรายได้ให้แก่ประเทศไม่น้อยกว่า 200,000 ล้านบาท และอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล ยังเป็นแหล่งสร้างงานให้แก่ชาวไร่อ้อย แรงงานในไร่อ้อย แรงงานเก็บเกี่ยวอ้อย พนักงานในโรงงานน้ำตาล และธุรกิจต่อเนื่อง ไม่น้อยกว่า 1,000,000 คน จึงถือได้ว่าอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของประเทศไทย เป็นอุตสาหกรรมหนึ่ง ที่มีความสำคัญต่อประเทศเป็นอย่างยิ่ง

ข่าว : มนสิชา คล้ายแก้ว จังหวัดเพชรบูรณ์

แหล่งข่าวอื่นๆ

http://www.tnews.co.th/contents/323525

http://www.khaochad.com/100148/?r=1&width=1440

http://www.sevendaynew.com/24509/

copyright © 2015 Office of The Cane and Sugar Board | Thailand Sugarcane Breeding Center | ศูนย์การปรับปรุงพันธุ์อ้อยแห่งประเทศไทย